บันทึกประจำรุ่น GNOME 2.12

1 มีอะไรใหม่สำหรับผู้ใช้

1.1 เดสก์ท็อป

1.1.1 รูปลักษณ์และสัมผัส

GNOME 2.12 มาพร้อมกับชุดตกแต่งมาตรฐานชุดใหม่ ในชื่อ "ClearLooks" ซึ่งทำให้เดสก์ท็อปของคุณน่ามองยิ่งขึ้น โดยยังคงความเรียบง่าย เป็นระเบียบไว้

รูปที่ 1น่ามอง เป็นมิตร เรียบง่าย: ชุดตกแต่งปริยายชุดใหม่

1.1.2 ตัวจัดการแฟ้ม

ตัวจัดการแฟ้มที่รู้จักกันในนาม Nautilus มีการปรับปรุงการติดต่อผู้ใช้หลายประการใน GNOME 2.12 ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ มุมมองรายการสามารถแสดงแฟ้มในไดเรกทอรีได้แล้ว ช่วยให้คุณเปิดดูโฟลเดอร์ย่อยได้ โดยเปิดโฟลเดอร์ในหน้าต่างใหม่เฉพาะเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น นอกจากนี้ เพื่อความสะดวกของคุณ เมนูที่คั่นหน้ายังแสดงตำแหน่งต่างๆ เหมือนกับในไดอะล็อกเลือกแฟ้มอีกด้วย

ใน GNOME 2.12 นี้ การลากข้อความจากโปรแกรมมาปล่อยในหน้าต่างโฟลเดอร์ จะช่วยประหยัดเวลาของคุณในการสร้างแฟ้มข้อความใหม่ คุณจะสังเกตเห็นว่า GNOME จะแสดงตัวอย่างข้อความที่กำลังลากอยู่ด้วย แทนที่จะเป็นไอคอนเฉยๆ

รูปที่ 2เนี้ยบและเฉียบ: ตัวจัดการแฟ้ม Nautilus

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงที่สำคัญในโหมดท่องดูอีกด้วย ซึ่งทำให้ดูคล้ายไดอะล็อกเลือกแฟ้มของ GNOME ที่มีอยู่:

  • สามารถแสดงที่หลักๆ และที่คั่นหน้าในแถบข้างได้
  • แสดงตำแหน่งแฟ้มในรูปของแถบแสดงพาธของ GNOME แทนที่จะเป็นช่องกรอกข้อความแบบเดิม แต่ช่องกรอกพาธแบบเดิมก็ยังเรียกใช้ได้ด้วยปุ่มลัด Control-L เช่นกัน

ความสามารถเขียนแผ่นซีดีอย่างง่ายของ GNOME สามารถทำสำเนาซีดีเพลงได้เหมือนซีดีข้อมูลแล้ว โดยเพียงคลิกขวาที่ซีดีหลังจากใส่แผ่นเท่านั้น

1.1.3 คลิปบอร์ด

ในรุ่นนี้ GNOME สามารถจำข้อมูลที่คุณคัดลอกเข้าคลิปบอร์ดได้ แม้หลังจากปิดหน้าต่างต้นตอไปแล้วก็ตาม ปัญหาที่ค้างคามานานนี้ ในที่สุดก็ได้รับการแก้ไข โดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพตกลงอย่างที่มักจะเกิดกับดีมอนจัดการคลิปบอร์ด โดยให้โปรแกรมต่างๆ ร้องขอการใช้ความสามารถนี้อย่างโจ่งแจ้ง

1.1.4 พาเนล

พาเนล ซึ่งโดยปกติคุณจะเห็นที่ด้านบนและด้านล่างของหน้าจอ เพื่อให้คุณเรียกโปรแกรมและควบคุมสภาพแวดล้อมของคุณในหลายๆ ด้าน ใน GNOME 2.12 นี้ คุณสามารถใช้พาเนลแนวตั้งแบบมีเมนูได้แล้ว ด้วยความสามารถเรื่องการตะแคงเมนูที่เพิ่มเข้ามา

คุณอาจสังเกตเห็นว่า โปรแกรมต่างๆ สามารถกะพริบชื่อในรายการหน้าต่าง เพื่อบ่งบอกว่าพร้อมใช้งานได้แล้ว ตัวอย่างเช่น โปรแกรมข้อความทันใจสามารถกะพริบไอคอนเมื่อเพื่อนส่งข้อความเข้ามาได้

รูปที่ 3พาเนล GNOME

1.2 โปรแกรมประยุกต์

1.2.1 โปรแกรมเล่นหนัง

โปรแกรมเล่นหนัง "Totem" ของ GNOME ทำงานด้วยโครงร่างสื่อผสม GStreamer ของ GNOME ใน GNOME 2.12 นี้ โปรแกรมเล่นหนังตัวนี้ มีแถบข้างแสดงรายการการเล่นแทนการเปิดหน้าต่างแยกแล้ว และยังสนับสนุนเมนูและคำบรรยายในดีวีดีอีกด้วย

รูปที่ 4โปรแกรมเล่นหนัง

1.2.2 การดึงเพลงจากซีดี

โปรแกรมดึงเพลงจากซีดีของ GNOME สามารถช่วยดึงเพลงจากซีดีมาไว้เล่นบนพีซี หรือเครื่องเล่นเพลงพกพาได้อย่างง่ายดาย และขณะนี้ คุณสามารถเล่นแทร็กต่างๆ ดูก่อนดึงออกมาได้ ในรุ่นล่าสุดนี้ ยังสามารถดึงข้อมูลออกไปไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ในเครือข่าย หรือในอุปกรณ์ถอดเสียบได้อีกด้วย โดยอาศัยระบบ VFS ของ GNOME

รูปที่ 5โปรแกรมดึงเพลงจากซีดี

1.2.3 เว็บเบราว์เซอร์

เว็บเบราว์เซอร์ "Epiphany" ของ GNOME ใช้ Mozilla เป็นฐาน โดยยังเชื่อมรวมกับเดสก์ท็อป GNOME อย่างเต็มที่ บางส่วนของการปรับปรุงใน 2.12 ได้แก่

  • แถบค้นหา อย่างที่มีใน Firefox และเคยมีใน Epiphany ในฐานะส่วนขยาย แถบนี้ช่วยให้คุณค้นหาข้อความในหน้าเว็บได้ โดยไม่ถูกหน้าต่างค้นหาบดบัง
  • ข้อความแจ้งข้อผิดพลาดที่ชัดเจนขึ้น และแสดงในเบราว์เซอร์โดยตรง
  • การใช้ระบบการพิมพ์มาตรฐานของ GNOME
  • สามารถใช้ที่คั่นหน้าเว็บร่วมกับโปรแกรมอื่นผ่านเครือข่ายได้อย่างง่ายดาย

รูปที่ 6เว็บเบราว์เซอร์

1.2.4 Evolution

Evolution ไคลเอนต์สำหรับอีเมลและกรุปแวร์ของ GNOME สนับสนุนทั้งการตั้งค่าอีเมลธรรมดา, Novell Groupwise และ Microsoft Exchange คุณสามารถใช้ Evolution อ่าน เขียน และจัดการอีเมล ที่อยู่ติดต่อ และกำหนดการในปฏิทินได้

ใน GNOME 2.12 นี้ Evolution มีโครงสร้างเมนูที่ใช้ง่ายขึ้น และมีการปรับปรุงแถบเอกสารแนบ และสามารถเข้ารหัส PGP ในบรรทัด รวมทั้งใช้ลายเซ็น PGP ได้ นอกจากนี้ ปฏิทินยังสามารถให้คุณมอบหมายการประชุมแทนได้อีกด้วย

พร็อกซี Groupwise และบัญชีแบบ IMAP ก็ได้รับการสนับสนุนแล้ว และยังแก้ปัญหาความเข้ากันได้ของผู้ใช้ที่ใช้ Mozilla Thunderbird กับ IMAP ด้วย

รูปที่ 7ไคลเอนต์อีเมล

1.3 การปรับแต่งพื้นโต๊ะ

1.3.1 เกี่ยวกับฉัน

ขณะนี้ GNOME มีพาเนลควบคุมตัวใหม่ชื่อว่า "เกี่ยวกับฉัน" แล้ว เพื่อให้คุณป้อนข้อมูลส่วนตัวของคุณ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ ที่อยู่อีเมล และบัญชีข้อความทันใจ แทนการป้อนข้อมูลซ้ำๆ ในโปรแกรมต่างๆ และนอกจากนี้ คุณยังสามารถเปลี่ยนรหัสผ่านเข้าระบบที่นี่ได้ด้วย

รูปที่ 8เกี่ยวกับฉัน

1.3.2 การปรับแต่งเมาส์

พาเนลควบคุมการปรับแต่งเมาส์ยอมให้คุณเปลี่ยนชุดตกแต่งเคอร์เซอร์ได้แล้ว

รูปที่ 9การปรับแต่งเมาส์

1.4 โปรแกรมอรรถประโยชน์

โปรแกรมอรรถประโยชน์ใน GNOME มีการปรับปรุงบางอย่าง เช่น:

1.4.1 โปรแกรมดูเอกสาร

GNOME 2.12 มีโปรแกรมดูเอกสารตัวใหม่ ชื่อว่า "Evince" ซึ่งมาแทนโปรแกรมอ่านเอกสาร PDF และ .ps เดิมทั้งหลายที่เคยแยกกัน โปรแกรมใหม่นี้ใช้ง่ายและสะดวกกว่า โดยสามารถค้นหาข้อความ และแสดงเอกสารทีละหลายหน้าพร้อมกันได้

รูปที่ 10โปรแกรมดูเอกสาร

1.4.2 โปรแกรมดูรูปภาพ

โปรแกรมดูรูปภาพของ GNOME สามารถแสดงรูปโดยปรับแก้สีให้ถูกต้องได้แล้ว โดยใช้โพรไฟล์ ICC

รูปที่ 11โปรแกรมดูรูปภาพ

1.4.3 โปรแกรมดูคู่มือวิธีใช้

Yelp โปรแกรมดูคู่มือวิธีใช้ของ GNOME ใช้กลไกจัดรูปแบบตัวเดียวกับเว็บเบราว์เซอร์ Epiphany แล้ว รูปลักษณ์และสัมผัส รวมทั้งความเสถียรของ Yelp พัฒนาขึ้นอย่างมากในรุ่นนี้

Yelp ยังมีการปรับปรุงด้านการสนับสนุนการจัดรูปแบบตามข้อกำหนดของท้องถิ่นต่างๆ ทำให้สามารถจัดแสดงเอกสารด้วยกฎการจัดรูปแบบเฉพาะของแต่ละภาษาได้ นับเป็นส่วนเติมเต็มที่เยี่ยมยอดของระบบการแปลเอกสารระบบใหม่ ซึ่งช่วยให้นักแปลสามารถแปลเอกสารคู่มือวิธีใช้ได้ง่ายพอๆ กับการแปลข้อความในโปรแกรม

รูปที่ 12โปรแกรมดูคู่มือวิธีใช้

1.4.4 การค้นหา

เครื่องมือค้นหาของ GNOME รุ่นนี้ แสดงรูปภาพย่อ แทนที่จะแสดงเป็นไอคอนในรูปทั่วไป

รูปที่ 13การค้นหา

1.4.5 พจนานุกรม

พจนานุกรมของ GNOME รุ่นนี้ มีการติดต่อผู้ใช้ที่ง่ายขึ้น และนำเสนอข้อมูลด้วยโครงร่างที่อ่านง่ายกว่าเดิม คุณสามารถเลือกแบบอักษรที่ใช้แสดงข้อมูลได้แล้วด้วย

รูปที่ 14พจนานุกรม

1.5 เกม

เกมของ GNOME ช่วยนำความสนุกมาสู่เดสก์ท็อป เกม Mines มีการปรับปรุงบางอย่างใน GNOME 2.12 นี้ ตัวอย่างเช่น คลิกแรกจะเคลียร์พื้นที่จำนวนหนึ่งเสมอ เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องสุ่มคลิก โดยหวังว่าจะไม่โดนระเบิด และยังมีรูปภาพการระเบิดเมื่อคุณเหยียบระเบิดอีกด้วย

รูปที่ 15Mines

2 มีอะไรใหม่สำหรับผู้ดูแลระบบ

GNOME 2.12 มีความสามารถใหม่ที่ทำให้ชีวิตของผู้ดูแลระบบง่ายขึ้น รวมทั้งผู้ใช้ที่ต้องจัดการเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเองด้วย

2.1 การปรับปรุงสำหรับ Sabayon

ในฐานะส่วนหนึ่งของงานเพื่อสนับสนุนตัวจัดการโพรไฟล์ผู้ใช้ที่ชื่อ Sabayon GNOME จะอ่านและแตะต้องค่าตั้งน้อยลงขณะเริ่มทำงาน ซึ่งนอกเหนือจากประสิทธิภาพที่ดีขึ้นเล็กน้อยแล้ว นี่ยังหมายถึงการดูแลระบบที่ง่ายขึ้นของ GNOME 2.12 โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับ Sabayon ซึ่งแม้จะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ GNOME อย่างเป็นทางการ แต่ก็ทำให้การตั้งโพรไฟล์ผู้ใช้สำหรับ GNOME ง่ายมากๆ

2.2 เครื่องมือแก้ไขเมนู

ขณะนี้ เมนูโปรแกรมของ GNOME ได้ใช้ข้อกำหนดเมนูของ freedesktop แล้ว ทำให้โปรแกรมติดตั้งได้ง่าย โดยไม่ขึ้นกับระบบเดสก์ท็อปที่ใช้ GNOME 2.12 มีเครื่องมือง่ายๆ สำหรับแก้ไขเมนู และด้วยความที่โครงสร้างพื้นฐานตรงตามมาตรฐาน ก็จะมีเครื่องมือจากนักพัฒนากลุ่มอื่นให้ใช้งานได้อีกในอนาคต

รูปที่ 16เครื่องมือแก้ไขเมนู

2.3 เครื่องมือดูแลระบบ

เครื่องมือดูแลระบบจะช่วยคุณตั้งค่านาฬิการะบบของคุณ การเชื่อมต่อเครือข่าย และจัดการผู้ใช้และกลุ่มผู้ใช้ในระบบของคุณ ขณะนี้ เครื่องมือเหล่านี้ยังเหมาะกับการดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์เดี่ยวๆ เท่านั้น ยังไม่เหมาะกับการตั้งค่าเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่

GNOME 2.12 มีเครื่องมือดูแลบริการระบบตัวใหม่ ซึ่งช่วยให้คุณเลือกบริการที่จะเริ่มเมื่อเปิดเครื่องได้

รูปที่ 17เครื่องมือดูแลบริการระบบ

2.4 เครื่องมือดูบันทึกปฏิบัติการของระบบ

เครื่องมือดูบันทึกปฏิบัติการระบบของ GNOME ช่วยให้การตรวจสอบระบบง่ายขึ้น โดยแสดงบันทึกปฏิบัติการทั้งหมดในหน้าต่างแบ่งแท็บหน้าต่างเดียว และยังช่วยคุณท่องดูบันทึกด้วยปฏิทินได้ รุ่นใหม่นี้ยังช่วยอำนวยความสะดวกเมื่อดูบันทึกปฏิบัติการเก่าที่จัดเก็บไว้อีกด้วย

รูปที่ 18เครื่องมือดูบันทึกปฏิบัติการของระบบ

3 มีอะไรใหม่สำหรับนักพัฒนา

แพลตฟอร์มพัฒนา GNOME 2.12 สร้างฐานที่มั่นคงสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป และสำหรับนักพัฒนา GNOME เองด้วย GNOME 2.12 มีการปรับปรุงเพิ่มเติม ทั้งในส่วนที่ผู้ใช้มองเห็นได้ และในส่วน API โดยยังคงความเข้ากันได้กับรุ่นเก่า และความเสถียรของ API ไว้ ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการพัฒนาโปรแกรมที่ทำงานได้บนยูนิกซ์และวินโดวส์ และใช้มาตรฐานที่สำคัญๆ เพื่อให้ทำงานร่วมกับเดสก์ท็อปอื่นๆ ได้

3.1 การปรับปรุงใน GTK+

ใน GNOME 2.12 นี้ GTK+ 2.8 มีความสามารถที่ผู้ใช้มองเห็นได้ที่น่าสนใจบางประการ ตัวอย่างเช่น

  • GTK+ รุ่นนี้ ใช้ API วาดรูปของ Cairo ซึ่งพัฒนาโดย freedesktop ทำให้การวาดวิดเจ็ตดัดแปลงทำได้ง่ายขึ้น และยังสามารถใช้เอฟเฟกต์ใหม่ๆ ได้ด้วย ในอนาคตอันใกล้ การใช้ Cairo น่าจะช่วยให้ GNOME สามารถใช้เอฟเฟกต์กราฟิกส์ใหม่ๆ และใช้การเร่งความเร็วด้วยฮาร์ดแวร์ได้ รวมทั้งการปรับปรุง API สำหรับการพิมพ์ด้วย
  • การจัดการการลากปล่อยมีการปรับปรุงขึ้นอีก และจะแสดงตัวอย่างข้อความขณะลากด้วย

นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งโปรแกรมที่ใช้ GTK+ ทั้งหลายสามารถใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องคอมไพล์ใหม่แล้ว ยังมีการเพิ่ม API ใหม่จำนวนมาก เพื่อช่วยให้การพัฒนาโปรแกรมทำได้ง่ายขึ้นอีก ตัวอย่างเช่น:

  • GtkFileChooser สามารถแสดงไดอะล็อกถามการยืนยันการเขียนทับแฟ้มได้ในโหมดบันทึก
  • GtkWindow สามารถมี hint เร่งด่วน เพื่อบอกตัวจัดการหน้าต่างให้แจ้งผู้ใช้ เช่น ด้วยการกะพริบหัวหน้าต่าง
  • GtkIconView ได้ทำโค้ดสำหรับอินเทอร์เฟซ GtkLayout แล้ว และสามารถวาดรายการต่างๆ ด้วย GtkCellRendererCells ได้
  • GtkTextView อนุญาตให้คุณกำหนดสีพื้นหลังของย่อหน้าได้แล้ว และคุณสามารถข้ามข้อความที่มองไม่เห็นเมื่อ iterate ได้ด้วย
  • GtkScrollWindow มีฟังก์ชันเพื่ออ้างถึงแถบเลื่อนของหน้าต่าง
  • GtkMenu สนับสนุนเมนูที่หมุนตั้งขึ้นแล้ว และสามารถละเลยโฟกัสแป้นพิมพ์ได้ เพื่อประโยชน์ของโปรแกรมเฉพาะบางอย่าง เช่น แป้นพิมพ์บนจอ
  • เมนูผุดขึ้นของ GtkEntryCompletion สามารถมีความกว้างมากกว่าช่องเติมข้อความได้แล้ว และสามารถห้ามเมนูผุดถ้ามีรายการที่ตรงแค่รายการเดียวได้ด้วย
  • ข้อความสัญญาอนุญาตใน GtkAboutDialog สามารถตัดบรรทัดได้แล้ว
  • GtkToolButton สามารถใช้ไอคอนระบุชื่อจากชุดตกแต่งไอคอนได้ และไอคอนเหล่านี้ อาจใช้แสดงผลระหว่างลากได้ด้วย
  • GtkSizeGroup สามารถละเลยวิดเจ็ตที่ซ่อนอยู่ได้

กรุณาอ่านรายการทั้งหมดของ API ใหม่ใน GTK+ 2.8 เพิ่มเติม

3.2 การทำงานข้ามแพลตฟอร์ม

ไลบรารี GTK+ ได้เป็นที่รู้จักในหมู่นักพัฒนาที่ต้องการสนับสนุนหลายแพลตฟอร์ม รวมถึงไมโครซอฟท์วินโดวส์และลินุกซ์และยูนิกซ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวอย่างเช่น ศิลปินอาจแก้ไขรูปภาพด้วย GIMP และ Inkscape บนลินุกซ์หรือวินโดวส์ก็ได้

และขณะนี้ ไลบรารีอีกหลายตัวของ GNOME รวมถึง ORBit2, libbonobo, libgnome, libbonoboui, libgnomeui และ gnome-vfs สามารถคอมไพล์บนไมโครซอฟท์วินโดวส์ได้ ทำให้การสร้างและแจกจ่ายโปรแกรม GNOME ในแพลตฟอร์มดังกล่าวทำได้ง่ายขึ้น ถึงแม้การสนับสนุนที่ว่านี้ ยังไม่สมบูรณ์ดี แต่ก็อาจเพียงพอสำหรับโปรแกรมบางประเภท และคาดว่าจะสมบูรณ์ในรุ่นหน้าของ GTK+ และ GNOME

3.3 การทำตามมาตรฐาน

GNOME ทำงานร่วมกับกลุ่มอย่าง freedesktop.org อย่างใกล้ชิด การสนับสนุนมาตรฐานเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ใช้และนักพัฒนา GNOME ความเข้ากันได้ช่วยให้ผู้ใช้ใช้งานสะดวกขึ้น โดยทำให้ GNOME, KDE และโปรแกรมอื่นๆ ทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น และการทำตามมาตรฐานเปิดยังช่วยทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ ว่าจะไม่ถูกผูกมัดไว้กับรูปแบบข้อมูลเชิงพาณิชย์ต่างๆ

นักพัฒนา GNOME กำลังทำงานอย่างหนักกับสมาชิกอื่นๆ ของชุมชนซอฟต์แวร์เสรีผ่าน Freedesktop.org เพื่อพัฒนามาตรฐานที่จะทำให้เกิดความเข้ากันได้ ตัวอย่างของมาตรฐานเหล่านั้นได้แก่ข้อกำหนด: ฐานข้อมูล MIME, ชุดตกแต่งไอคอน, แฟ้มที่พึ่งใช้, เมนู, รายการเดสก์ท็อป, การจัดการรูปภาพฉบับย่อ, และ ถาดระบบ นอกจากนี้ GNOME ยังสนับสนุน CORBA, XML, Xdnd, EWMH, XEMBED, XSETTINGS, และ XSMP อีกด้วย

4 การสนับสนุนนานาภาษา

ด้วยการทำงานของสมาชิกทั่วโลกของ โครงการแปล GNOME ภายใต้การนำของ Christian Rose และ Danilo Šegan ทำให้ GNOME 2.12 สนับสนุนภาษาต่างๆ ถึง 43 ภาษา (ที่มีการแปลข้อความอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์)

ภาษาที่สนับสนุน:

  • แอลเบเนีย (ผู้พูด 5 ล้านคน)
  • โปรตุเกสบราซิล (175 ล้าน)
  • บัลแกเรีย (9 ล้าน)
  • คาตะลาน (7 ล้าน)
  • จีนประยุกต์ (กว่า 1 พันล้าน)
  • จีนดั้งเดิม (40 ล้าน)
  • เช็ก (11 ล้าน)
  • เดนมาร์ก (5.3 ล้าน)
  • ดัทช์ (กว่า 21 ล้าน)
  • อังกฤษ (341 ล้าน)
  • ฟินแลนด์ (กว่า 5 ล้าน)
  • ฝรั่งเศส (กว่า 75 ล้าน)
  • กาลิเชียน (3 ล้าน)
  • เยอรมัน (100 ล้าน)
  • กรีก (15 ล้าน)
  • คุชราตี (46 ล้าน)
  • ฮินดี (370 ล้าน)
  • ฮังการี (14.5 ล้าน)
  • อินโดนีเซีย (230 ล้าน)
  • อิตาเลียน (60 ล้าน)
  • ญี่ปุ่น (กว่า 125 ล้าน)
  • เกาหลี (75 ล้าน)
  • ลิทัวเนีย (4 ล้าน)
  • มาซิโดเนีย (2 ล้าน)
  • มาเลย์ (กว่า 17 ล้าน)
  • เนปาล (16 ล้าน)
  • นอร์เวย์ Bookmal (5 ล้าน)
  • โปแลนด์ (44 ล้าน)
  • โปรตุเกส (43 ล้าน)
  • ปัญจาบี (60 ล้าน)
  • โรมาเนีย (26 ล้าน)
  • รัสเซีย (170 ล้าน)
  • เซอร์เบียน (10 ล้าน)
  • สโลวะเกีย (5 ล้าน)
  • สเปน (กว่า 350 ล้าน)
  • สวีเดน (9 ล้าน)
  • ทมิฬ (61 ล้าน)
  • ไทย (65 ล้าน)
  • ตุรกี (150 ล้าน)
  • ยูเครน (50 ล้าน)
  • เวียดนาม (68 ล้าน)
  • เวลส์ (575,000)
  • Xhosa (7 ล้าน)

สังเกตว่า กาลิเชียน เอสโทเนีย อินโดนีเซีย มาซิโดเนีย เนปาล สโลวะเกีย เวียดนาม ไทย และ Xhosa เป็นภาษาใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนใน GNOME 2.12 จากการทำงานอย่างหนักของนักแปล และที่ควรกล่าวถึงคือ GNOME 2.12 สนับสนุนภาษาอังกฤษแบบบริติช และภาษาอังกฤษแบบแคนาดาด้วย

มีอีกหลายภาษาที่สนับสนุนเพียงบางส่วน โดยมีการแปลข้อความเกินครึ่งหนึ่ง

5 การติดตั้ง GNOME 2.12

สำหรับ GNOME 2.12 เรามี LiveCD ที่ gnome.org/projects/livecd/ ซึ่งช่วยให้คุณทดลองใช้ GNOME บนลินุกซ์ได้โดยไม่ต้องติดตั้งอะไรในฮาร์ดดิสก์ของคุณ อาจเป็นวิธีที่ดีในการมองหาสิ่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในรุ่นนี้

สำหรับการใช้งานจริง เราขอแนะนำให้คุณติดตั้งแพกเกจที่ปล่อยอย่างเป็นทางการ เช่นจากลินุกซ์ดิสทริบิวชันของคุณ ผู้ผลิตต่างๆ มีแนวโน้มที่จะทำแพกเกจของ GNOME 2.12 อย่างรวดเร็ว และที่จะปล่อยรุ่นใหม่ที่มี GNOME 2.12 ในไม่นานหลังจากนี้

ถ้าคุณกล้าหาญและอดทน และอยากจะคอมไพล์ GNOME จากซอร์สโค้ดเอง เพื่อทดสอบการใช้งานรุ่นล่าสุด และเพื่อรายงานผลการใช้หรือร่วมปรับปรุงให้ดีขึ้น เราขอแนะนำเครื่องมือคอมไพล์อย่าง GARNOME สำหรับคอมไพล์จาก tarball ที่ปล่อยออกมา และ jhbuild สำหรับการคอมไพล์จาก CVS

6 ปัญหาที่พบแล้ว

ซอฟต์แวร์ทุกอย่าง เมื่อถึงกำหนดปล่อย จะยังมีข้อบกพร่องบางอย่างที่นักพัฒนาทราบ แต่เลือกที่จะไม่แก้ไขก่อนปล่อย ด้วยเหตุผลต่างๆ ซอฟต์แวร์เสรีก็ไม่ต่างกับซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ในเรื่องนี้ เว้นแต่เพียงว่า สำหรับซอฟต์แวร์เสรี เราบอกผู้ใช้ของเราให้ทราบถึงปัญหาเหล่านี้ด้วย

เรายังสนับสนุนให้ผู้ใช้รายงานข้อผิดพลาด เพื่อจะได้แก้ไข วิธีที่ดีที่สุดที่จะรายงานข้อผิดพลาดที่พบใน GNOME คือการใช้ การรายงานบั๊กอย่างง่าย ซึ่งจะช่วยคุณผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการรายงานข้อผิดพลาดอย่างมีคุณภาพ และช่วยให้มั่นใจว่า กำหนดข้อมูลของข้อผิดพลาดอย่างถูกต้อง หรือถ้าคุณเป็นผู้ใช้ขั้นสูงเกินไปสำหรับสิ่งที่มีคำว่า 'อย่างง่าย' ก็ยังมี แบบฟอร์มรายงานบั๊กตามแบบฉบับ คุณสามารถหารายละเอียดเกี่ยวกับบั๊กที่รายงานแล้วได้ที่ Bugzilla ตัวอย่างของข้อผิดพลาดของ GNOME 2.12 ที่เด่นๆ เช่น:

6.1 รายการประเด็นที่ทราบแล้ว

  • ปฏิบัติการ 'เปิดเทอร์มินัล' ได้ถูกลบออกจากเมนูคลิกขวาของ Nautilus แล้ว เพื่อปรับปรุงความสะดวกจัดการ และความสะดวกใช้ในขั้นปริยาย ถ้าคุณต้องการใช้ เราขอแนะนำให้ติดตั้ง ปลั๊กอินเปิดเทอร์มินัลสำหรับ Nautilus ซึ่งไม่เพียงแต่เรียกรายการ 'เปิดเทอร์มินัล' กลับคืนมาในเมนู Nautilus แต่ยังช่วยมากกว่านั้น ด้วยการเปิดเทอร์มินัลในไดเรกทอรีที่คุณกำลังเปิดดูเลย

7 สู่ GNOME 2.14 และถัดๆ ไป

GNOME ทำงานโดยอาศัยกำหนดการปล่อยตามกำหนดเวลา ซึ่งเป็นความพยายามที่จะเผยแพร่งานของนักพัฒนาของเราสู่ผู้ใช้อย่างฉับไวที่สุดเท่าที่ทำได้ ความสามารถต่อไปนี้ อยู่ในพิสัยของนักพัฒนา GNOME และอาจมาถึงในรุ่นถัดๆ ไป

  • การสนับสนุนมาตรฐาน Apple Bonjour เพื่อตรวจหาบริการต่างๆ ในเครือข่าย โดยมีแนวโน้มจะใช้ Avahi
  • การสนับสนุน caldav มาตรฐานบริการปฏิทินเปิดใน Evolution
  • การใช้ Network Manager เพื่อให้โปรแกรมที่ใช้เครือข่ายมีพฤติกรรมที่ฉลาด เมื่อมีการเชื่อมต่อ หรือตัดการเชื่อมต่อเครือข่าย
  • การปรับโครงสร้างของ GTK+ และไลบรารีต่างๆ ของ GNOME เพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาและใช้งานโปรแกรม GNOME โดย โครงการ Ridley
  • การใช้โครงสร้างพื้นฐานใหม่สำหรับการวาดให้มากขึ้น เพื่อปรับปรุงรูปลักษณ์และความสะดวกใช้ ตัวอย่างเช่น การใช้ใน Clearlooks ชุดตกแต่งปริยายชุดใหม่ของเรา
  • สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาอ่าน แผนงาน GNOME ในหน้าวิกิของเรา

8 การมีส่วนร่วม

แก่นแท้ของความสำเร็จของ GNOME ก็คือการมีอาสาสมัครจำนวนมาก ทั้งผู้ใช้และนักพัฒนา

ในฐานะผู้ใช้ การมีส่วนร่วมของคุณอาจจะแค่การรายงานข้อผิดพลาดอย่างมีคุณภาพ คุณสามารถรายงานข้อผิดพลาดใน Bugzilla ของเรา โดยใช้ แบบฟอร์มช่วยรายงานบั๊กอย่างง่าย หรือถ้าคุณอยากช่วยมากกว่านั้น คุณสามารถมาร่วมใน bug-squad อันคึกคักของเราได้

สำหรับนักพัฒนา ยังมีงานที่น่าตื่นเต้นที่รออยู่ในกลุ่มนักพัฒนาที่คึกคักของเรา กล่าวคือ ระบบอำนวยการใช้งาน การเขียนเอกสาร ประเด็นเรื่องความสะดวกใช้ งานแปล เว็บ การทดสอบ งานกราฟิกส์ และการพัฒนาเดสก์ท็อปและแพลตฟอร์ม กรุณาอ่าน คำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้น

การช่วยพัฒนา GNOME อาจเป็นประสบการณ์ที่น่าพึงใจอย่างไม่น่าเชื่อ คุณจะได้พบกับผู้คนหลากหลายที่ทำงานด้วยแรงบันดาลใจ มีความชำนาญ และพร้อมจะช่วยเหลือ ซึ่งต่างก็ทำงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน มาร่วมกับเราสิ จะได้รู้ว่าคุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ภาคผนวก 1. ผู้จัดทำ

บันทึกประจำรุ่นนี้รวบรวมโดย Murray Cumming, Davyd Madeley, และชุมชน GNOME